เคยสงสัยกันมั้ยครับ ว่าหลายๆ ครั้งที่เราวิเคราะห์ข้อมูล หรือ ทำ Data Analytics นั้น เรามักวิเคราะห์เพื่ออะไร?
หนึ่งในเหตุผลหลักๆ ของหลายๆ คนก็คงจะเป็น เพื่อประกอบการตัดสินใจนั่นเอง
แล้ว Data Analytics นั้น ช่วยในการตัดสินใจสำหรับเรายังไง
ลองมาดูตัวอย่างการทำ Data Driven Decision making แบบเข้าใจง่ายๆ ด้วย Google Map กันครับ
เรื่องที่ควรพิจารณาในการใช้ Data
ถ้าต้องวางแผนการเดินทาง สิ่งแรกๆ ที่เรามักจะนึกถึง การตรวจสอบเส้นทางและการจราจรใน Google Map เพราะเราต้องการประเมินว่าเราจะต้องใช้เวลาในการเดินทางเท่าไหร่ และเมื่อไหร่จะถึงที่หมาย
แต่ Google Map จะแม่นทุกครั้งเลยหรือเปล่า?
ถ้าไม่แม่น แล้วเราจะทำอย่างไร?
หลายๆ ครั้งที่เราไปตาม Google Map แล้ว พาขึ้นทางด่วน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขอ
พาอ้อม ไม่ก็ฝ่าดงรถติด หรือ บางครั้ง ตัวเลขบน Google Map ก็คลาดเคลื่อนแบบไม่อยากจะให้อภัยเลย
Google Map อาจช่วยประเมินเวลาให้เรา แต่ Google Map ไม่สามารถตัดสินใจให้เราได้ว่า
– ถ้าไปถึงก่อนเวลา แล้วจะมีที่ให้รอ หรือ จอดรถนานๆ มั้ย
– หรือถ้าไปรับคนแล้วจอดไม่ได้ จะต้องเร่งคนที่ไปรับมั้ย
– ถ้าไปถึงสาย แล้วเราจะต้องทำยังไง
– BTS หรือ MRT จะเสียล่วงหน้ามั้ย
– จะมีอุบัติเหตุหรือรถติดล่วงหน้าหรือเปล่า
Google Map ไม่ได้วางแผนหรือหาทุกคำตอบให้ แต่ช่วยบอกแนวโน้มให้เราสามารถวางแผนล่วงหน้าได้
การใช้ Data ก็เหมือนกัน
เมื่อทำธุรกิจ Data อาจไม่ได้ให้ทุกคำตอบที่ต้องการในทุกๆ เวลาได้ และอาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามา เช่น
1. ทรัพยากร (Resources) ที่เราต้องใช้ในการทำ Data
แน่นอนว่าเราต้องการ prediction หรือตัวเลข forecast ที่แม่นยำที่สุด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่ความแม่นยำถึงขีดสุดระดับ อาจต้องใช้ทรัพยากรและเวลามาก แล้วยังอาจมีความไม่แน่นอนอยู่ บางครั้ง เราอาจต้องให้ลำดับความสำคัญกับการได้ข้อมูลที่เพียงพอจะทำให้เราสามารถตัดสินใจและวางแผนรับมือได้ในเวลาที่ต้องการมาก่อน
2. เราจะรับมือสถานการณ์ต่างๆ จากสิ่งที่คาดการณ์ได้อย่างไร?
ไม่ว่าตัวเลขจะเป็นไปตามที่คิดหรือที่ได้วิเคราะห์ประเมินไว้หรือไม่ ก็ควรหาทางรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ไว้ด้วย เช่น หากยอดขายมากกว่าหรือน้อยกว่าที่คาด สินค้าล้นหรือขาดสต๊อกจะทำอย่างไร
3. หาทางรับมือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดไว้ด้วย
แม้จะมีโอกาสเกิดน้อย แต่ถ้าความเสียหายนั้นสูง ก็ควรหาทางรับมือความเสี่ยงนั้นไว้ ไม่ว่าจะเป็นการบรรเทาหรือหลีกเลี่ยงความเสียหาย
4. Data อาจเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์หรือเวลาที่เปลี่ยนไป
เช่นเดียวกับการใช้ Google Map เมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นรถติด รถเสีย เราก็ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ด้วย เพียงแต่เราต้องการข้อมูลที่รวดเร็ว และทันเวลามาช่วยประกอบการตัดสินใจด้วย
5. คุณอาจต้องพิจารณาว่าควรใช้หรือสร้าง Data เองหรือไม่
หากสินค้าของคุณไม่ใช่ Data หรือ Data Service หลายๆ บริษัท อยากสร้าง AI อยากสร้าง Data Platform ขึ้นมาเอง ซึ่งหากคุณพยายามสร้างมันขึ้นมา ลองคิดดูว่าหากคุณสร้าง Google Map มาใช้เอง จะคุ้มมั้ย เมื่อเทียบกับการใช้ Google Map มาช่วยในการทำธุรกิจแทน
6. หากอยากได้ Data ที่รวดเร็วและแม่นยำ ควรโฟกัสไปที่การ Automate
การได้ Data ที่รวดเร็วนั้น ควรโฟกัสไปที่การ Automate งานที่อาจมีข้อผิดพลาดได้หรือเป็นคอขวดมากกว่า ซึ่งสำหรับงาน data หนึ่งในงานที่อาจเกิดข้อผิดพลาดได้คือ การทำ Manual Report ซ้ำๆ บ่อยๆ ซึ่งก็อาจคล้าย การใช้ Google Map แล้วคอยแคปจอตลอดการเดินทาง คุณควรมีการสร้าง Data Pipeline และสร้างระบบ Self Service Report ที่มีประสิทธิภาพแทนการให้คนมานั่งทำ Report แล้วให้คนทำ Report ไปคิดงานที่มี Value มากกว่า เช่น คิด Strategy
.
และนี่ก็คือ ความเห็นของผม เกี่ยวกับการใช้ Data Driven Decision Making เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น และสามารถสร้าง Value ให้กับธุรกิจ หรือ สิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ได้
หวังว่าจะมีประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ เห็นด้วยหรือไม่ยังไง แชร์กันมาได้เลยนะครับ 🙂